วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

3 Year Old Drummer

ลูกรู้จักดนตรี เสริมสร้างพัฒนาการรอบด้าน

 

แม้ว่าเด็กในวัยทารกไปจนถึงเด็กเล็กจะมองดูเหมือนมนุษย์ตัวน้อยๆ ที่ไม่น่าจะเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของดนตรี พวกแกอาจจะหัวเราะเอิ๊กอ๊าก เมื่อได้ฟังเพลงหรือเสียงบรรเลงดนตรีในท่วงทำนองสนุกๆ แต่กิริยาเหล่านั้น อาจเป็นความชอบอกชอบใจที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีเลยก็เป็นได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เคยคิดอะไรทำนองนี้ แสดงว่ายังประเมินคุณค่าของดนตรีที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อยต่ำเกินไป เพราะแท้จริงแล้ว เสียงดนตรีที่มีคุณภาพสามารถกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านของเด็กในช่วงขวบปีแรก ของชีวิตได้อย่างมากมายมหาศาล เบื้องต้นคงต้องทำความเข้าใจกับส่วนประกอบหลัก 3 ส่วนของดนตรีเสียก่อนว่ามีอะไรบ้าง
ดนตรี = เสียง + จังหวะ + ท่วงทำนอง
เสียง     มีที่มาจากสองแหล่งใหญ่ๆ คือเสียงที่เกิดจากเราเป็นผู้ทำขึ้น และเสียงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ
หากเปรียบดนตรีกับภาพเขียน เสียงจะเปรียบเสมือนสีที่ เป็น พื้นหลังของภาพ เสียงที่ไพเราะจะส่งผลด้านบวกแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความแจ่มใส กระฉับกระเฉง หรือทำให้เกิดความสงบผ่อนคลาย ขณะที่เสียงแหลมสูงทำให้เราทนฟังไม่ได้ เมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าใจแล้วว่า เสียงเปรียบเหมือนสีพื้นหลังในรูปภาพ เขาจะสามารถเชื่อมโยงได้ว่าจะสามารถสร้างเสียงดนตรีขึ้นมาได้อย่างไร โดยอาศัยเสียงเป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างสรรค์ พ่อแม่ต้องลองสังเกตดูว่า ลูกฟังเสียงรอบๆ ตัวอย่างสนอกสนใจหรือไม่         เสียงต่างๆ ในห้องครัวหรือในสวนหลังบ้าน พยายามกระตุ้นให้ลูกสร้างสรรค์เสียงต่างๆ โดยไม่ต้องเคร่งครัดว่าจะต้องเป็นเสียงเพราะๆ เท่านั้น ปล่อยให้ลูกเคาะกะโหลกกะลาหรือเสียงที่น่ารำคาญต่างๆ เท่าที่จะพอใจ  จุดประสงค์ของการสร้างสรรค์เสียงในลักษณะนี้คือ ต้องการให้เด็กได้แสดงความรู้สึกและตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างเต็มที่ รวมทั้งทำให้เด็กได้ฝึกประสาทการรับฟังเสียงต่างๆ จากโลกรอบๆ ตัว
จังหวะ    เป็นตัวจัดระบบให้กับเสียงผ่านทางเสียงเคาะให้จังหวะ ถ้าเปรียบกับภาพเขียน จังหวะก็เหมือนทิศทางการเคลื่อนไหวทั้งหมดของรูปภาพ ครั้งแรกที่เรามองภาพ สายตาเราจะจับจ้องตรงจุดไหน ภาพนั้นมีลายเส้นที่ดูง่ายหรือยุ่งเหยิง สิ่งนี้เป็นเช่นเดียวกับจังหวะ ตอนรู้สึกเซ็งๆ หรือหดหู่ พอได้ยินเสียงกลองแอฟริกันจังหวะสนุกๆ เร่งเร้า เราก็จะกลับมาคึกคักได้ ตรงกันข้าม การขับกล่อมด้วยเพลงจังหวะช้าๆ จะช่วยทำให้จิตใจเยือกเย็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ การพยายามเพิ่มเติมจังหวะต่างๆ เข้าไปในเสียงที่ลูกชอบทำ สังเกตว่าลูกชอบเคาะจังหวะแบบใดบ้าง อาจเร็ว ช้า หนักแน่น หรือเคาะก๊องๆ แก๊งๆ ไม่เป็นจังหวะ พยายามฝึกให้ลูกได้ฟังจังหวะต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น เสียงน้ำหยดติ๋งๆ หรือเสียงนาฬิกาติ๊กต็อกๆ หรือจังหวะต่างๆ ในร่างกายของตัวเอง และให้ลูกสังเกตว่าจังหวะแต่ละแบบมีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เช่นอยากขยับขับเคลื่อนเท้าไปตามจังหวะดนตรีหรือไม่
ท่วงทำนอง
จะทำให้เสียงและจังหวะผสานออกมาเป็นความ รู้สึกต่างๆ ท่วงทำนองเป็นส่วนที่จับใจที่สุดของเสียงดนตรี ท่วงทำนองจะมีผลต่อจิตใจอย่างลึกซึ้ง เช่น ช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้นในยามที่จิตใจตึงเครียด หรือแม้แต่ร้องไห้ออกมาเมื่อได้ฟังท่วงทำนองที่ซาบซึ้ง เปรียบกับภาพเขียน ท่วงทำนองก็เหมือนกับความรู้สึกทั้งหมดที่เรามีต่อภาพ เมื่อเด็กได้เรียนรู้เรื่องท่วงทำนองพร้อมเสียงและจังหวะ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างเหมาะสมเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะเพิ่มเรื่อง ของอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงแห่งความสนุกสนาน เศร้าใจ หรือมีความสุข ท่วงทำนองจะเปลี่ยนเสียงให้เป็นเรื่องรายและอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว พ่อแม่สามารถใช้จินตนาการในการเลือกเพลงรูปแบบต่างๆ เพ่อให้ลูกได้ลองฟังและแสดงความรู้สึกออกมา

ดนตรีเสริมทักษะรอบด้าน  
นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องดนตรีจากพ่อแม่โดยตรงแล้ว เด็กควรได้รู้จักมีสังคมด้วย โดยการทำกิจกรรมกลุ่มและการเล่นดนตรีควบคู่กันไป

พัฒนาการด้านสังคม
การทำกิจกรรมกลุ่มด้านดนตรีทำให้เด็กได้อยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้น กิจกรรมกลุ่มเหล่านี้อาจเป็นการรวมกลุ่มร้องเพลง ล้อมวงเล่นเกมที่มีเสียงเพลงประกอบ หรือปรบมือประกอบจังหวะ เหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะในการรู้จักรอคอยให้ถึงเวลาของตน รู้จักการทำงานร่วมกันไปจนถึงการแบ่งปัน

พัฒนาการทางร่างกายพัฒนาการทางร่างกายของเด็กนั้น เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบในการทำกิจกรรมด้านดนตรี การเต้นรำและเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อประกอบจังหวะช่วยพัฒนาในเรื่องของความ พร้อมเพรียงและการควบคุมกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ได้รู้สึกถึงจังหวะผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือแม้แต่การฝึกเล่นเครื่องดนตรีควบคู่ไปด้วย การให้จังหวะจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น การปรบมือหรือเคาะเท้าประกอบจังหวะ ช่วยในเรื่องของพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว มือและนิ้วมีความสัมพันธ์กับเสียงและการเคลื่อนไหวร่างกาย

ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร
การทำกิจกรรมดนตรีเป็นกลุ่มยังเป็นการเสริมทักษะด้านการสื่อสารได้อย่างดี การร้องเพลงและการทวนซ้ำเนื้อเพลง รวมทั้งจังหวะของเพลง จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาของเด็กให้ดีขึ้น และยังทำให้เด็กจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ ได้อีกหลายคำ นอกจากนี้ดนตรีและบทเพลงยังเป็นประสบการณ์แรกๆ เกี่ยวกับโครงสร้างของภาษา  การตั้งใจฟังดนตรีเพื่อแยกแยะเสียงต่างๆ จากเครื่องดนตรีแต่ละประเภท เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างสมาธิในการฟังให้เกิดขึ้น เป็นการพัฒนาความสามารถในการแยกแยะเสียงต่างๆ ให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีความจำเป็นต่อเด็กในการเรียนรู้ที่จะใช้ภาษา

ทักษะด้านคณิตศาสตร์
ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าการเรียนรู้ดนตรีจะมีผลต่อทักษะด้านคณิตศาสตร์ได้อีกทาง หนึ่ง แต่เรื่องนี้เป็นไปได้จริง เด็กจะได้ทักษะการเรียงลำดับของตัวเลขจากการนับจังหวะดนตรี รวมไปถึงการจดจำและคิดค้นจังหวะของเสียงดนตรีขึ้นมาใหม่ เป็นแนวคิดเดียวกับเรื่องของคณิตศาสตร์ หากให้โอกาสเด็กในการเปรียบเทียบ แยกประเภท และจับคู่เสียงต่างๆ ซึ่งแตกต่างกัน เช่น ทดลองด้วยการเขย่าอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านให้เกิดเสียง วิธีนี้จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาแนวคิดด้านคณิตศาสตร์ในเรื่องชุด (set) ของสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้
คุณค่าต่างๆ จากการเรียนรู้ดนตรีในช่วงขวบปีแรกของชีวิตยังมีอีกมากมายมหาศาล ซึ่งพ่อแม่ที่ฉลาดย่อมรู้ว่า นี่คือของขวัญอันมีค่าซึ่งควรจะมอบให้แก่ลูก หากผ่านพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้ว เท่ากับพลาดโอกาสทองที่ไม่อาจทวนคืนมาได้อีก

ที่มา:http://www.yamaha.in.th/yamahanew/tips_family_learnplay01.php