วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หนูก็ "เครียด" เป็นนะ



ตัวแค่นี้ ทำไมถึง "เครียด"
ในทางจิตวิทยานั้น สภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ คือ
*ความเครียดที่เกิดจากพัฒนาการของเด็กเอง เพราะเป็นวัยที่ต้องการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก จากที่เคยนอนแบเบาะทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ เมื่อต้องการอะไรก็ต้องรอให้ผู้ใหญ่ตอบสนองให้ กลับค่อยๆ พัฒนามาเป็นการสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันสมองก็เริ่มมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เริ่มเชื่อมโยงกับการกระทำได้ รวมถึงด้านภาษาก็มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเด็กรู้สึกถึงพลังความสามารถของตัวเอง
และ มี nagativerism เหมือนดื้อ ทำตรงกันข้าม และขณะเดียวกันก็มีสภาวะความผูกพันระหว่างแม่หรือผู้เลี้ยงดูค่อนข้างมาก เช่น เด็กยังมีความรู้สึกว่าถ้าแม่ไม่อยู่แปลว่าหายไป หลับตาแปลว่าแม่หายไป ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจถึงความคงอยู่ของสิ่งของว่าเป็นอย่างไร ทำให้เขาติดและตามแม่อยู่ตลอดเวลา วิตกกังวลเรื่องการพลัดพรากสูง จนบางครั้งแม่จะรู้สึกว่าลูกงอแง ดื้อ นอกจากนั้นวัยนี้ยังมีอารมณ์ "อิจฉา" ชัดเจน (และจะหายไปในช่วงอายุประมาณ 5 ปี) หรือความกลัวโดยไร้สาเหตุ
สิ่ง ที่เป็นความเครียดของเด็กวัยนี้สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ตัวเองต้องการแต่ไม่ได้ถูกตอบสนอง สิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการแต่ถูกยัดเยียด หรือตัวเองอยากได้ทั้งหมดแต่ถูกกำหนดให้เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่อยากได้เลยทั้งสองอย่าง เช่น ไม้เรียวก็ไม่เอา ยาก็ไม่อยากกิน แต่ถูกบังคับให้เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

*เกิดจากความรู้สึกภายในใจของตนเอง (ระหว่างศีลธรรมจรรยากับสิ่งที่ตัวเองต้องการ) เช่น เขาถูกแม่ดุ รู้สึกโกรธแม่ อันนี้เป็นความปรารถนาร้ายต่อแม่ แต่ขณะเดียวกันศีลธรรมจรรยาที่มีอยู่ก็จะห้ามไม่ให้รู้สึก (โดยที่เด็กเองก็ไม่รู้ตัว) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะยังรักยังแคร์แม่อยู่

*เกิดจากภาวะแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ของพ่อและแม่ที่มีปัญหาต่อกัน ความเครียดนี้ก็จะติดต่อไปที่ตัวเด็ก โดยผ่านท่าทีและบรรยากาศภายในบ้าน

สัญญาณ "ความเครียด" ของหนู
เด็กในวัยนี้มีการแสดงออกของความเครียดต่างกับผู้ใหญ่ ที่จะบอกว่า กำลังกลุ้ม กำลังหงุดหงิด หรือรู้จักที่จะหาวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวเอง แต่ตรงกันข้ามเด็กกลับจะแสดงออกในด้านพฤติกรรม อารมณ์และทางกายแทน ที่สำคัญคือมักแสดงออกในเรื่องของการกินอยู่หลับนอน อย่างเช่น งอแง ร้องโวยวาย หรือนอนหลับๆ ตื่นๆ นอนผวา นอนฝันร้าย หรือจู้จี้เรื่องอาหาร เอาแต่ใจ ปฏิเสธอาหาร บางทีก็แสดงออกมาในรูปของการขับถ่าย การกลั้นอุจจาระ ไม่ยอมถ่าย หรือเรียกร้องความสนใจ
ซึ่ง การแสดงออกเหล่านี้ทำให้พ่อแม่ไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นพัฒนาการที่ผิดปกติแต่ไม่ได้มองในประเด็นของความเครียด และเมื่อเข้าใจแบบนี้ก็มักจะเข้าไปจัดการ ตีกรอบ และบังคับลูก (มากเกินไป) ก็จะยิ่งทำให้เด็กเกิดความเครียดได้ง่ายขึ้น ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม และมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจบั่นทอนพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กรวมทั้งอาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านจิตใจและพฤติกรรมได้ต่อไป
  
กลยุทธ์หลีกหนี "ความเครียด"
การ เข้าใจในธรรมชาติชองลูก เลี้ยงดูลูกด้วยพื้นฐานของความรักและมีเวลาให้ลูก รู้จักเล่น รู้จักสังเกต และต้องรู้ว่า ความเครียดของลูกวัยนี้มาจากเรื่องอะไรได้บ้าง เช่น ความต้องการทางกาย ทางใจ ความรัก การดูแลแล้ว นอกจากนั้นยังต้องรู้จักวางแผนการเลี้ยงดูเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหา ต่างๆ มีข้อสังเกตและคำแนะนำมาฝากกันค่ะ
*พ่อแม่ต้องเป็นคนช่างสังเกต และแยกแยะว่าความเครียดที่เกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุใด เกิดที่ไหน เช่น ในบ้าน นอกบ้าน เกิดจากตัวเด็กเอง หรือคนแวดล้อม เพื่อจะได้แก้ไขได้ถูก
*ต้องรู้ธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ว่ามีพัฒนาการอย่างไร และตอบสนองต่อพัฒนาการนั้นให้เหมาะสม เช่น เป็นวัยที่มีความกลัว ก็ต้องไม่ผลักดันลูกไปสู่สถานการณ์แห่งความกลัวนั้น
*ต้องรู้ความต้องการของเด็กในวัยนี้ ซึ่งจะช่วยให้ปฏิบัติและเลี้ยงดูได้เหมาะสม
*หลีกเลี่ยงความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตามใจลูกไปทุกเรื่อง เพียงแต่ต้องรู้จักที่จะฝึกระเบียบวินัยอย่างเหมาะสม ค่อยเป็นค่อยไปและไม่เคร่งเครียดจนเกินไป
ผ่อนหนักให้เป็นเบา
การ สังเกตและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อรู้และตอบสนองความต้องการของลูกได้เหมาะสม เป็นวิธีที่สอดคล้องในการลดทอนความเครียดของลูก แต่ในยุคสมัยที่เราทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้านกัน (โดยเฉพาะในสังคมเมือง) โอกาสที่จะใกล้ชิดและดูแลลูก ด้วยปริมาณเวลาในแต่ละวันก็ลดน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาในการที่เราจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความเครียด ของลูก มีกิจกรรมมากมายที่ใช้เวลาไม่มากแต่ช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้ค่ะ
*ใช้เวลาที่เหลือจากงานหลักๆ ของคุณอยู่กับลูกให้มากที่สุด เพื่อพูดคุย สัมผัส โอบกอดและเล่นกับลูก เป็นการชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่กับเขา
*ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นเวลาที่ดีที่สุดเวลาหนึ่งที่เรา(พ่อ)แม่ลูกจะได้นอนกอดกัน เล่านิทานให้ฟัง โดยแอบล้วงความลับความเครียดในวันนั้น ที่ลูกพบผ่านนิทานสนุกๆ ถ้าเป็นปลายขวบปีที่สองลูกจะสามารถเป็นฝ่ายเล่าให้คุณฟังอย่างเป็นคุ้งเป็น แควเลยล่ะ
*การสอบถามพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ (ไม่ใช่การตั้งคำถามให้ตอบ) คุยกันไปเรื่อยๆผ่านเนื้อหาคำถามที่จะตรวจเช็กว่าในวันนั้นๆ ลูกสุขสบายดีมั้ย อยู่กับพี่เลี้ยงเป็นอย่างไร ร้องไห้รึเปล่าด้วยเรื่องอะไร ฯลฯ เป็นวิธีช่วยสังเกตความเป็นไปของลูกอีกวิธีหนึ่ง
*หาเกมกิจกรรมที่ได้ออกแรงให้ลูกเล่นบ้าง (เพื่อขับพลังความก้าวร้าวที่มีอยู่ตามธรรมชาติของวัย) เช่น กิจกรรมกลางแจ้งกับเครื่องเล่นสนาม เล่นเตะฟุตบอล เล่นวิ่งไล่จับกัน ฯลฯ
*เลือกกิจกรรมเชิงศิลปะ เช่น การวาดภาพ การเล่นดนตรี ฟังเพลงสบายๆ เพื่อช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลาย (โดยไม่รู้ตัว)

สิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้ นำไปสู่บรรยากาศของความเครียด ความกดดัน ซึ่งเจ้าตัวเล็กของเราก็คงจะได้รับแรงกระแทกนี้ไปด้วย ไหนจะความเครียดที่เกิดจากตัวของเขาเอง ไหนจะความเครียดที่มาจากสิ่งรอบตัว แต่ทั้งหมดนี้เพียงแต่พ่อแม่รู้เท่าทันภาวะอารมณ์ การแยกแยะว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งไหนเกิดจากปัจจัยแวดล้อมและเราต้องดูแลจัดการอย่างไรบ้าง ก็สามารถช่วยประคับประคองให้ลูกรักเติบโตไปอย่างมีความสุข และสอดคล้องกับพัฒนาการของเขาได้อย่างแน่นอน

 ที่มา:http://www.blogger.com/post-create.g?blogID=3269869846698977848

ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกวัยแม้กระทั่งวัยเด็กซึ่งมีสาเหตุมาจากความรู้ภายในใจของเด็กและสภาพแวดล้อม พ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด แบ่งเวลาจากงานมาพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เด็กมีความสุขเพื่อพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี






วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สารพัดเคล็ดลับปรับพฤติกรรมเด็กก้าวร้าว

รศ.พ.ญ.วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เด็กเล็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะเห็นได้จากการทำลายสิ่งของหรือทำร้ายตนเอง เมื่อโกรธหรือถูกขัดใจ ดื้อ ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ตีน้อง ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กในวัยเด็กเล็ก แต่ถ้าหากเราปล่อยปละละเลยโดยไม่สอนหรือฝึกทักษะให้เด็กรู้จักวิธีควบคุม อารมณ์และจัดการกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เด็กอาจกลายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เป็นพวกอันธพาล ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาสังคมในอนาคต

วิธีจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกนั้น สามารถปฏิบัติได้โดยการใช้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและ สามารถแก้ไขพฤติกรรมได้ โดยเฉพาะในเด็กยิ่งเล็กการให้เหตุผลต้องสั้น เข้าใจง่าย เช่น มีดเล่นไม่ได้เพราะจะบาดมือหนู นอกจากนี้ท่าทีที่หนักแน่นและจริงใจของผู้ใหญ่ก็มีความสำคัญอย่างมาก

รศ.พ.ญ.วันเพ็ญ กล่าวว่าเวลาที่ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรแล้วเด็กมักดื้อ ไม่ยอมทำตาม วิธีการหนึ่งที่ได้ผลคือต้องพูดให้หนักแน่นและจริงจังว่าให้ทำเดี๋ยวนี้ อาจต้องใช้ท่าทีประกอบด้วย เช่น ลุกขึ้นจูงมือเด็กให้ไปทำในสิ่งที่ต้องทำ ในส่วนของการให้สิ่งทดแทนก็สำคัญเหมือนดังเช่นเวลาที่ห้ามเด็กทำสิ่งใดสิ่ง หนึ่ง เช่น เด็กเล่นของแหลมอยู่ถ้าจะเอาจากมือเด็กก็ให้เอาของอื่นที่น่าสนใจกว่ามาให้ เด็กแทน และไม่ควรหยิบของแหลมจากมือเด็กไปเฉยๆ ซึ่งเด็กรู้สึกถูกขัดใจอย่างรุนแรงก็จะร้องอาละวาดต่อ หรือเช่นเห็นเด็กขีดเขียนฝาผนังบ้านอยู่ถ้าจะห้ามทำก็ควรหากระดาษมาให้เด็กเขียนแทน

การให้เด็กแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกเป็นเรื่องจำเป็น ควรให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อเขามีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถพูดออกมาได้อย่าง อิสระ อีกทั้งควรให้รางวัลเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้พฤติกรรมที่เหมาะ สมนั้นคงอยู่ต่อไป รางวัลอาจจะเป็นคำชมเชยเพื่อให้เด็กเกิดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ อีก เป็นธรรมดาของเด็กทุกคนที่ต้องการได้รับความสนใจจากบุคคลอื่น

เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่อาจใช้วิธีเลิกสนใจขณะที่เด็กกระทำพฤติกรรมนั้น และให้ความสนใจหรือให้รางวัลเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่พ่อแม่เห็นว่าเหมาะสม อย่างไรก็ตามการสอนเด็กเล็กๆ นั้นพ่อแม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกเพราะเด็กจะเอาเป็นแบบอย่าง และจะจดจำการกระทำของผู้ใหญ่มากกว่าการสั่งสอนด้วยวาจาหรือการลงโทษ และถ้าจำเป็นต้องลงโทษเด็กต้องไม่ทำด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือไม่ชอบเด็ก เพราะจะทำให้เด็กยิ่งต่อต้านมากขึ้น ทั้งนี้ต้องอธิบายเหตุของการทำโทษให้เด็กคนนั้นทราบว่าเพราะอะไรเขาจึงถูกทำโทษ

ที่มา: http://news.sanook.com/lifestyle/lifestyle_140003.php

เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมพ่อแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี และวิธีการลงโทษควรใช้เหตุผลมากกว่าการดุด่าหรือตีเพราะจะทำให้เด็กต่อต้านมากขึ้น