วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

โลกแห่งจินตนาการของเด็กเล็ก

 บรรดาพ่อ แม่ ครู พี่เลี้ยงหรือคนใช้ ผู้มีหน้าที่เลี้ยงดูเด็กเล็กมักจะเห็นเด็กเล็กทุกคนพูดกับตนเอง เด็กเล็กบางคนสนทนากับตนเอง บ่อยครั้งยิ่งกว่ากับบุคคลอื่น นักจิตวิทยาได้พบว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ขวบ ใช้เวลาตั้งแต่ 20-60% ของเวลาพูดในแต่ละวันพูด พึมพำกับตนเอง ซึ่งอากัปกิริยาเช่นนี้ผู้ใหญ่มักคิดว่าเป็นนิสัยที่ไม่มีความหมายใดๆ และเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการไร้เสถียรภาพ ทางอารมณ์ ดังนั้น ผู้ใหญ่หลายคนจึงห้ามปรามมิให้เด็กเล็ก "เพ้อเจ้อ" หรือ รำพึงรำพันใดๆ
แต่ ณ วันนี้นักจิตวิทยาได้วิจัยพบว่านิสัยการปรารภกับตนเองเป็นพฤติกรรมที่จำเป็นสำหรับ เด็กที่กำลังมีพัฒนาการของสมอง ดังนั้น การเข้าใจพฤติกรรมลักษณะนี้เป็นอย่างดีจะเป็น ประโยชน์ต่อชีวิตเด็กในอนาคต  นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ชื่อ Lev S. Vygotsky คือบุคคลแรกของโลกที่ได้ตระหนักใน ความจริงนี้แต่ผลงานของเขาถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของ Stalin ประณามและห้ามเผยแพร่ นอกจากเหตุผลทางการเมืองแล้ว เหตุผลด้านวิชาการก็มีส่วนในการทำให้ชื่อของ Vygotsky เป็นที่ยอมรับช้าอีกด้วย เพราะนักจิตวิทยายุคนั้นยึดมั่นในคำสอนของ Piaget ซึ่งเป็นนัก จิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวสวิส ที่เชื่อว่า การสนทนากับตนเองของเด็กเล็กไม่มีความสำคัญและไม่มี บทบาทในการพัฒนาเด็กแต่อย่างใด Piaget คิดว่าอุปนิสัยชอบพูดกับตนเองเช่นนี้จะหมดไป เมื่อเด็กเล็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยที่เขาสามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้
แต่ก็มีนักจิตวิทยาชาวอเมริกันท่านหนึ่งขื่อ Konlberg ซึ่งเชื่อว่าความคิดของ Vygotsky ถูก เพราะ Kohlberg มีความคิดว่า หากผู้ใหญ่สามารถเข้าใจอุปนิสัยของเด็กได้ เขาจะสามารถใช้ความเข้าใจนี้พัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ ของเด็กได้ เพราะเวลา เด็กเล็กพูดกับตนเองนั่นแสดงว่าเด็กกำลังใช้ความพยายามแสดงออกซึ่งความคิด เห็นของตน และการที่เด็กพูดกับตนเองบ่อย ก็เพราะ เนื้อหาสาระที่เขาพูดสามารถชี้นำให้เขามีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาที่เขากำลัง เผชิญอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง
เมื่อประมาณ 7 ปีมาแล้ว L.E. Berk แห่งมหาวิทยาลัย Illinois State ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้วิจัยพบว่า เวลาเด็กเล็กสับสน หรือเผชิญปัญหา เด็กมักใช้วิธีพูดกับตนเอง และการปราศัยกับตนเองนี้จะกระทำบ่อยเพียงใดขึ้นกับความยากลำบากของกิจกรรม ที่เด็กเล็กกำลังกระทำ และการเข้าใจจุดมุ่งหมายของภาระงานนั้น และนอกจากปัจจัยดังกล่าวนี้แล้ว อุปนิสัยส่วนตัวเด็กก็มีส่วน ไม่น้อยในการชักนำ ให้เด็กเล็กสนทนากับตนเอง
เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ Berk จึงมีความเห็นว่า เวลาผู้ปกครองเด็กเห็นเด็กพูดกับตนเองขณะทำงานที่เด็กไม่เคยมีประสบการณ์ มาก่อน ผู้ใหญ่ควรตระหนักได้ว่านั่นคือ สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังต้องการคำพูดที่ให้กำลังใจจากผู้ใหญ่ และเด็กกำลังต้องการการประคับประคองทางจิตใจ เพื่อที่จะรู้ว่ากิจกรรมที่เขากำลังทำอยู่นั้นมีจุดประสงค์อะไร ดังนั้น ผู้ใหญ่ก็อาจเข้าไปชี้แนะเพื่อให้เด็กสามารถ เห็นวิธีที่เด็กจำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหา และหลังจากนั้นผู้ใหญ่ก็ค่อยๆ ถอยออกมา การสั่งห้ามมิให้เด็กปริปากพูดหรือการตำหนิเวลา เด็กพูดกับตนเองมักทำให้เด็กเล็กเก็บกดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ซึ่งจะมีผลทำให้เด็กไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนหรืออ่านหนังสือ และเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กเก็บกดเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมอารมณ์ใดๆ ไม่ได้
การพูดกับตนเองมิได้เป็นกิจกรรมเดียวที่เด็กเล็กชอบทำ การมีโลกสมมติของตนเองก็เป็นกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้ใหญ่สามารถ พบเห็นได้บ่อยในชีวิตของเด็กเล็กทุกคน เช่น เวลาเล่นกับเพื่อน เด็กเล็กมักสมมติตนเองเป็นเทพเจ้า เป็นสัตว์ เป็นนางฟ้า หรือแม่มด ฯลฯ ความนึกคิดเช่นนี้ได้ทำให้นักจิตวิทยางุนงงและสงสัยมานานแล้วว่าเหตุใดเด็ก เล็กจึงมีโลกแห่งจินตนาการลักษณะนี้ด้วย
ในอดีตวงการจิตวิทยาได้ยอมรับในความคิดของ Freud และ Piaget ที่ว่าเด็กเล็กเป็นบุคคลที่ไม่มีเหตุและผลในการกระทำใดๆ เพราะเขาไม่สามารถจะลำดับขั้นตอนความเป็นเหตุเป็นผลของความนึกคิดต่างๆ ได้ และความนึกคิดของเด็กนั้น ส่วนใหญ่เป็น ความฝันและความปรารถนาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง ดังนั้น เด็กเล็กจึงไม่สามารถจำแนกเรื่องที่เป็นจินตนาการ ออกจากเรื่องจริงได้
แต่ ณ วันนี้ในหนังสือชื่อ The Work of Imagination ของ Paul L.Harris ที่จัดพิมพ์โดย Blackwell Oxford เมื่อ พ.ศ.2543 ได้มีรายงานการวิจัยที่แสดงว่าความคิดของ Freud และ Piaget เกี่ยวกับจิตนาการของเด็กเล็กนั้นผิดมโหฬาร
เพราะ Harris ได้พบว่า ถึงแม้เด็กเล็กจะมีอายุเพียง 2-3 ปี ก็สามารถที่จะรู้ว่า เรื่องจริงกับเรื่องฝันนั้นแตกต่างกันเพียงใด และตลอดเวลา ที่เขาสมมติตนเองเป็นอะไรก็ตาม เขาก็รู้ว่าเขากำลังสมมติ เขามิได้เป็นนางฟ้าหรือกระต่ายจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีอายุ 3 ขวบ สามารถบอกได้ว่าถ้าลูกหมีน้อยทำแก้วน้ำตก แก้วจะแตกและพื้นห้องจะเปียก เป็นต้น
Majorie Taylor เป็นนักจิตวิทยาอีกท่านหนึ่งที่เห็นพ้องกับแนวคิดของ Harris เมื่อเธอได้พบว่าเด็กเล็กรู้ตัวตลอดเวลาว่า การแสดงออกของเขาและเพื่อนในโลกสมมตินั้น เป็นเพียงการแสดงเท่านั้นหาใช่ชีวิตจริงไม่
ผลงานวิจัยเหล่านี้จึงได้ลบล้างความเชื่อโบราณที่ว่า เด็กที่ฝันเฟื่อง เป็นเด็กที่คิดอย่างไม่มีเหตุผล แต่ในขณะเดียวกันผลงาน วิจัยนี้ก็ได้ทำให้ผู้ใหญ่ต้องคิดต่อไปว่า ถ้าเด็กเล็กเข้าใจว่าอะไรจริงและอะไรสมมติแล้วละก็ เหตุใดเด็กเล็กบางคนในบางเวลา จึงต้องใช้เวลานาน เป็นชั่วโมงเพื่อแสดงละครฝันเช่นนั้นด้วย หรือเด็กเล็กชอบอยู่ในโลกแห่งความฝันมากกว่าโลกแห่งความจริง
ซึ่ง Harris ก็ได้ตอบคำถามนี้ว่า การแสดงละครสมมติของเด็กเล็กเป็นการแสดงที่มิได้มีสาเหตุจากความบกพร่องทางจิตใจ เพราะแม้แต่ ผู้ใหญ่เองก็ชอบมีจินตนาการมีโลกสมมติของตนเองเช่นกัน เช่น ชอบหนัง หรือตัวละครโทรทัศน์ถึงขนาดร้องไห้ เพราะซาบซึ้งใน ความรักของคุณหญิงกีรติในภาพยนตร์เรื่อง ข้างหลังภาพ หรือเกลียดนางริษยาทั้งหลายในละครทีวี เป็นต้น
เมื่อการมีโลกจินตนาการเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เช่นนี้ คำถามก็มีต่อไปว่า เหตุใดมนุษย์จึงต้องมีโลก สมมติเช่นนี้ด้วย คำตอบคงเป็นว่า เพื่อให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข ทั้งๆ ที่เทพบุตรสุดหล่อ และเทพธิดาที่ สวยสง่าในฝันของเราหรือของเด็กเล็กก็ตาม ไม่มีตัวตนเลย

http://www.mwit.ac.th/~physicslab/content_01/sutut/child_img.html